ปัจจุบันเราก็มีผลิตภัณฑ์ป้องกันภัยต่างๆให้เลือกมากมาย เช่น เครื่องตัดกระแสไฟรั่วอัตโนมัติ เครื่องตรวจจับควัน เป็นต้น แต่วันนี้ขอกล่าวถึง ถังดับเพลิง ที่ควรมีติดบ้านไว้ ดังสำนวนที่ว่า “กันไว้ดีกว่าแก้.. แย่แล้วจะแก้ไม่ทัน” เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรือเกิดพลิงไหม้เล็กๆเราสามารถใช้งานได้ทันทีโดยมีหลายประเภทให้เลือกตามเชื้อเพลิงที่ต้องการดับอาทิ ไม้ ผ้า กระดาษ น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ไฟฟ้าลัดวงจร ดังนั้นเราจึงควรเลือกมาใช้ให้เหมาะสมกับงานและเพื่อความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ต้องจ่ายไป
ถังดับเพลิงเป็นอุปกรณ์ดับเพลิงแบบเคลื่อนที่ ประกอบด้วยถังแรงดัน ซึ่งบรรจุน้ำหรือสารเคมีดับไฟอื่นๆ พร้อมมือจับ ไกเปิด/ปิด สลักนิรภัย และสายฉีด ออกแบบไว้สำหรับการดับเพลิงไหม้เล็กน้อย เพื่อไม่ให้บานปลาย ทั้งนี้ประสิทธิภาพการดับไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงแต่ละชนิดจะแตกต่างกันไป โดยขึ้นอยู่กับชนิดของสารดับเพลิงซึ่งบรรจุอยู่ในถัง อาทิ ผงเคมีแห้ง, คาร์บอนไดออกไซค์ ,โฟม หรือเคมีสูตรน้ำดังนั้นก่อนเลือกถังดับเพลิงมาใช้งานให้เราดูที่ฉลากข้างตัวถัง ซึ่งจะระบุประเภท A,B,C,D หรือ K ซึ่งหมายถึงถังชนิดนั้น มีความสามารถในการดับไฟอะไรได้บ้าง เช่น
ประเภท A เพลิงไหม้ที่เกิดจากเชื้อเพลิงของแข็ง เช่น ไม้ ผ้า กระดาษ ยาง พลาสติก เป็นต้น
ประเภท B เพลิงไหม้ในของเหลวติดไฟละก๊าซติดไฟ เช่น น้ำมัน ทินเนอร์ ก๊าซหุงต้ม จาระบี
ประเภท C เพลิงไหม้ที่เกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าและมีกระแสไฟฟ้าไหลอยู่ เช่น ไฟฟ้าลัดวงจร
ประเภท D เพลิงไหม้ที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาของโลหะ
ประเภท K เพลิงไหม้ที่เกิดจากน้ำมันที่ใช้ประกอบอาหารและไขมันสัตว์
1.ถังชนิดผงเคมีแห้ง ส่วนใหญ่เป็นสีแดง สามารถดับไฟได้เกือบทุกประเภท A,B,C ยกเว้น K มีราคาไม่แพง หาซื้อง่าย แต่ก็มีข้อด้อยคือเมื่อฉีดออกมาจะฟุ้งกระจาย ทิ้งคราบเปื้อนเหมือนผงแป้งสีขาว และเมื่อฉีดแล้วจะหมดหรือไม่หมด แรงดันจะตก ไม่สามารถใช้งานได้อีก ต้องส่งบรรจุใหม่ อายุการใช้งานประมาณ 2-3 ปี
2.ถังชนิดเหลวระเหย (NON-CFC) สีเขียวๆ เมื่อฉีดแล้วจะระเหยไปเอง ไม่ทิ้งคราบสกปรก สามารถดับไฟได้ทุกประเภท A,B,C มีราคาสูง เหมาะกับการใช้งานในห้องที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่างๆ
3.ถังชนิดน้ำละอองสเปร์ยต่ำ หรือที่มีชื่อว่าวอเตอร์มิสท์ ที่ใช้สำหรับการดับไฟได้ดี ไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้า สามารถดับไฟได้ทุกประเภท A,B,Cหรือ K ราคาจะสูงกว่าถังชนิดผงเคมีแห้ง เหมาะกับใช้งานในบ้าน เพราะสามารถดับไฟที่เกิดจากน้ำมันทอดในครัวเรือนได้ และหากมีการใช้งานแล้ว แต่ยังไม่หมด สามารถใช้งานต่อจนหมดได้ ตัวถังมีหลายสี ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตและจัดจำหน่าย เช่น สีฟ้า สแตนเลส หรือสีเขียว
4.ถังชนิดบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ มีสีแดง ปลายกระบอกฉีดจะใหญ่เป็นพิเศษ เมื่อฉีดออกมาจัมีไอเย็นจัด คล้ายน้ำแข็งแห้ง ช่วยลดความร้อนของไฟไหม้ได้ ไม่ทิ้งคราบสปรก สามารถดับไฟปรเภท B ,C ได้ เหมาะกับห้องที่มีเครื่องจักรกลต่างๆ
5.ถังชนิดบรรจุโฟม เมื่อฉีดออกมาจะเป็นฟองโฟมคลุมผิวเชื้อเพลิงที่ลุกไหม้ จึงสามารถดับไฟประเภท A,B แต่ไม่สามารถดับไฟประเภท C ได้ เพราะเป็นสื่อนำไฟฟ้า เหมาะสำหรับภาคอุตสาหกรรม ใช้ดับเชื้อเพลิงพวกทินเนอร์ และสารละเหยติดไฟ